• Facebook Fanpage
  • Messenger
  • Line Official
  • Youtube Channel

เลือกภาษา

Thai Thai

ค้นหาข้อมูล

สื่อโซเซียลหน่วยงาน

เมนูหลัก

การป้องกันการทุจริต

คำขวัญตำบลกลางใหญ่

"บ้านข้าวเม่า ปลาเผ่าเขาขาด

ธรรมชาติสวนหิน ถิ่นไทพวน"


     ⇒ ประวัติความเป็นมาของตำบลกลางใหญ่

   จากคำบอกเล่า  บ้านกลางใหญ่เป็นชุมชนลาวพวนถูกกวาดต้อนมาจากบ้านหนองแก้ว   หาดเดือย  เมืองเชียงขวางในสมัยเจ้าอนุวงศ์เวียงจันทน์เป็นกบฏต่อกรุงเทพฯ  กองทัพไทยได้กวาดต้อนเอาชาวลาวจากเวียงจันทน์ข้ามมาไทยและจะส่งลงกรุงเทพฯ  ต้นตระกูลของพ่อตู้แสง  สองคน คือ  จารย์อินและจารย์รินผู้น้อง  เป็นผู้มีความรู้ได้บวชเรียนจนได้เป็นจารย์  พ่อแม่พาหนีสงคราม  ไทยลาว  ไทยญวน  จากเชียงขวางมาอยู่ในเวียงจันทน์จารย์อิน  จารย์รินและครัวพวน  ๑  ครัวถูกกวาดต้อนจากเวียงจันทน์จะให้ไปอยู่กวางกรุงเทพ ฯ เดินทางข้ามแม่น้ำโขงมาถึงบ้านกลางใหญ่ซึ่งกลายเป็นบ้านร้างไปแล้วเพราะสงครามไทย ลาว  กบฏเจ้าอนุวงษ์  พวกไทยลาว  ที่อยู่บ้านเลาอยู่ห่างจากบ้านกลางใหญ่ทางทิศเหนือ  ๓  กิโลเมตร  บ้านเทือนอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้และบ้านไซอยู่ทางทิศตะวันออก

  » ตำบลกลางใหญ่  แบ่งหมู่บ้านในเขตการปกครองออกเป็น  ๑๓  หมู่บ้าน  มีชื่อเรียกอยู่  ๔  ชื่อ  คือ  บ้านกลางใหญ่ หมู่ที่ ๑,๕,๙,๑๐,๑๒   บ้านโนนตาแสง  หมู่ที่ ๖,๑๑  บ้านนาสีดา หมู่ที่  ๓,๗   บ้านผักบุ้ง  หมู่ที่ ๒,๔,๘,๑๓



 ประวัติบ้านกลางใหญ่ (หมู่ที่ ๑,๕,๙,๑๐,๑๒)

      ย้อนไปในสมัย  “ยางสามต้นอ้นสามขวย”  ชาวบ้านหนองแก้วหาดเดือย  ได้ถูกกองโจรจีนฮ่อบุกโจมตีจนแตกตื่นจึงพากันอพยพจากหนองแก้วหาดเดือย  แขวงเมืองเชียงขวาง  มาพักอยู่ที่เมืองสีกาทำไร่ทำนาอยู่พักหนึ่ง  แต่ก็ถูกรุกรานจากพวกจีนฮ่ออีกจึงได้อพยพมาพักอยู่ที่บ้านสีไค  แขวงนครเวียงจันทร์

      ต่อมาอีกไม่นานเจ้าอนุวงศ์ผู้ปกครองนครเวียงจันทร์  คิดกบฏต่อประเทศไทยหลังจากที่ครองราชย์ได้เพียง  ๕  ปี  เท่านั้น จึงหวังจะกอบกู้เอกราชคืนเจ้าอนุวงศ์จึงได้ยกทัพข้ามแม่น้ำโขงไปจนถึง  ร้อยเอ็ด  มหาสารคาม  ยึดเมืองต่างๆไปจนถึงเมืองโคราชซึ่งเป็นระยะที่เจ้าเมือง คือพระยาปลัดไม่อยู่ไปราชการเมืองพิมาย  มีแต่คุณหญิงโมผู้เป็นภรรยาอยู่รักษาเมืองแทน 

      รวบลัดมาถึงตอนที่เจ้าอนุวงศ์พ่ายแพ้แต่คุณหญิงโม จึงได้ถอยทัพกลับไปตั้งรับอยู่ที่ค่ายคำหัวคนหนองบัวลำภูก็ถูกตีแตกอีก  ถอยกลับไปรับอยู่ที่ค่ายบกหวานนาฮีก็ถูกตีแตกอีก  ในที่สุดก็ข้ามแม่น้ำโขงไปป้องกันนครวียงจันทร์ฝ่ายทัพไทยได้ใจเพราะเห็นความพ่ายแพ้ของเจ้าอนุวงศ์และทหารหาญก็รวมตัวกันไม่ได้  จึงได้ยกกองทัพไปตีเมืองเวียงจันทร์  จนได้รับชัยชนะจับเจ้าอนุวงศ์ได้และกวาดต้อนประชาชนของลาวส่วนหนึ่งกับมายังประเทศไทยส่วนเจ้าอนุวงศ์ได้เสียชีวิตระหว่างทาง

      ในตอนนี้กรมหลวง  ซึ่งเป็นแม่ทัพไทยเห็นว่าควรตัดกำลังลาว  โดยกวาดต้อนราษฎรลาวทั้งหมดเข้าประเทศไทยโดยข้ามแม่น้ำโขงมาพักอยู่ที่  “พานพร้าว”(ปัจจุบันเป็น ตำบลพานพร้าว อำเภอศรีเชียงใหม่ จังหวัดหนองคาย)  ออกจากพานพร้าวก็ได้ถูกนายกองของไทยกวาดต้อนมาพักอยู่ที่สันภูพาน  (ติดช่องเขาขาด)ราษฎรลาวที่ถูกกวาดต้อนมาส่วนมากเป็น  “ชาวพวน”  อพยพมาด้วยกันหลายร้อยครอบครัว  ถ้าครอบครัวไหนพอมีอันจะกิน(ฐานะดี)  ก็จะมี “ข้อย”(ทาส)ติดตามไปด้วยครอบครัวละ  ๒  คน 

      ตัวอย่างครอบครัวของสองพี่น้องชื่อจารย์อิน  จารย์ลิน  สองพี่น้องนี้มีบริวารมากและมีเงินทองติดตัวมาขณะอพยพ  เช่น  เงินป้อม  เงินฮาง  ทองคำ  สร้อยคอ  แหวน  ต่างหูพวง  ประดับพลอย  ซ่อนมาด้วยในการอพยพมาจากเมืองลาว

      จารย์อิน  จารย์ลิน  สองพี่น้องและพวกที่มีเงินทองได้ปรึกษากันว่าพวกเราไม่อยากอพยพไปอยู่ที่ไกลๆเพราะพวกเขามีทรัพย์สินติดตัวมาด้วย  จึงตกลงที่จะยกทรัพย์สินส่วนหนึ่งให้นายกอง(ติดสินบน) ผู้ควบคุม  ครอบครัวที่อพยพมาจึงตกลงกันเพื่อวางแผนโดยการเก็บรากไม้ที่มีสารทำให้ถ่ายท้องได้(ทำให้ท้องร่วง)  เช่น  รากแฮนเม็ด  รากมะตอด  (สล๊อต)  หนาวเดือนห้า  เก็บมาตามสายทางและที่เก็บติดมือมาแต่บ้านเก่าด้วย  เมื่อได้มาแล้วก็นำมาฝนใส่หินผสมน้ำพอประมาณ(หินฝนยา)โดยเฉพาะผู้หญิงและเด็กๆที่พอเดินได้ให้เริ่มถ่ายท้องและอ่อนเพลียลง

       ด้วยความที่จารย์อิน  จารย์ลิน  สองพี่น้องนี้เป็นผู้คงแก่เรียนเคยบวชเรียนเขียนอ่านมาเป็นเวลานานในขณะบวชก็ได้ศึกษาเกี่ยวกับสมุนไพร  รากไม้ต่างๆจนชำนาญเมื่อลาสิกขา(สึก)ออกมาก็มีความชำนาญในเรื่องต่างๆจนเป็นที่เคารพนับถือของชาวพวน  ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้นำของชนชาวเมืองพวนมาจนกระทั่งแตกศึกอพยพเรื่อยมา จนมาพักอยู่ที่สันภูพาน(ติดช่องเขาขาด)ดังกล่าว  เมื่อครอบครัวที่อพยพด้วยกันกินยาถ่ายท้องได้ไม่นานก็ออกอาการถ่ายท้องจนอ่อนเพลียไปตามๆกัน  สองพี่น้องจึงเข้าไปหานาย กองและขอความกรุณาจากท่านๆจึงกรุณาผ่อนปรนให้ค้างอยู่ที่พักต่อไปได้

       ส่วนครอบครัวที่ยากจนหน่อยก็ถูกเกณฑ์ต้อนไปกับกองอพยพไปตกอยู่ที่สแกรกัง,สนามแจง,บ้านหมี่,บ้านหม้อ,ท่าค้อ,วังกะโดน  ฯลฯ  เมื่อได้รับอนุเคราะห์จากท่านนายกองที่ควบคุมกองทัพอพยพแล้ว  จึงเที่ยวเลือกหาที่ทำเลที่เหมาะสมเพื่อได้ตั้งบ้านต่อไป  เมื่อเลือกที่ทำเลเหมาะสมได้แล้วจึงได้พาครอบครัวที่เหลืออยู่เพียง  ๑๑  ครอบครัวเท่านั้น  มาตั้งรกรากเป็นหลักฐานขึ้นโดยได้ตั้งชื่อบ้านที่ตั้งขึ้นใหม่ว่า  “บ้านกลางใหญ่”

     ⇒ สาเหตุที่ชื่อว่าบ้านกลางใหญ่

  ก่อนที่ครอบครัวทั้ง  ๑๑  ครอบครัวจะมาตั้งนั้นมีหมู่บ้านต่างๆตั้งอยู่รอบบริเวณนั้นอยู่ก่อนแล้ว  คือ

  • บ้านเลาเก่า (ปัจจุบันเป็นที่ตั้งวัดป่านาสีดา)ตั้งอยู่ทางทิศเหนือของบ้านกลางใหญ่
  • บ้านนาแค (ปัจจุบันเป็นบ้านร้าง)ตั้งอยู่ทางทิศใต้ของบ้านกลางใหญ่
  • บ้านไชย์ (ปัจจุบันเป็นบ้านร้าง)ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกของบ้านกลางใหญ่
  • บ้านเทือน (ปัจจุบันเป็นบ้านร้าง)ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของบ้านกลางใหญ่

       ดังนั้น  เมื่อมีบ้านต่างๆล้อมอยู่บ้านที่ตั้งใหม่นี้จึงได้เชื่อว่า  “บ้านกลางใหญ่”  บ้านเลาเก่า, บ้านไชย์ ,  บ้านเทือน  มีซากอิฐที่เป็นโบสถ์อยู่ด้วยเฉพาะบ้านไชย์มีอยู่ด้วยกัน  ๒  โบสถ์สันนิฐานว่าคงจะเป็นบ้านที่ใหญ่พอสมควรในสมัยนั้น  สำหรับบ้านเทือนในปัจจุบันได้มีพระสงฆ์ที่มีศรัทธาได้เข้าไปบูรณปฏิสังขรณ์พระอุโบสถ์และได้ก่อสร้างวัตถุถาวรแล้ว  มีพระจำพรรษาอยู่ตลอดปีนับแต่ปี  พ.ศ.๒๕๓๗  เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน

      กล่าวถึงสาเหตุคนลาวที่อพยพมาตั้งบ้านกลางใหญ่ก็เพราะเจ้าอนุวงศ์เป็นกบฏต่อราชอาณาจักรไทยจนเป็นเหตุให้คุณหญิงโมผู้เป็นภรรยาเจ้าเมืองโคราชทำการศึกกับเจ้าอนุวงศ์  ซึ่งตรงกับสมัยรัชกาลที่  ๓  คือสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว  ประมาณ  พ.ศ.  ๒๓๖๙  เมื่อถึงสมัยของรัชกาลที่  ๕  ทรงอนุญาตให้ครอบครัวลาวที่อพยพมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่  ๓  จะโยกย้ายไปอยู่  ณ  ที่ใดก็ได้ แต่ห้ามไม่ให้ข้ามแม่น้ำโขงกลับไป  ฉะนั้นจึงมีครอบครัวอพยพมาในรุ่นที่  ๒  เพิ่มขึ้นมาอีก ซึ่งรุ่นที่  ๒  นี้มาจากทุ่งย่างเมืองฝางเข้ามาตั้งบ้านเรือนอยู่ทางทิศตะวันตกของหมู่บ้านออกไป  จึงทำให้บ้านกลางใหญ่เพิ่มประชากรขึ้นโดยลำดับ  รุ่นนี้เป็นรุ่นหลังตอนรัชกาลที่  ๕  ทรงอนุญาตให้อพยพได้  เช่น  พ่อกำนันสวน  ใจซื่อ  ลุงพ่อทิดบุญมี  บิดาของท่านเจ้าคุณหลวงปู่เทสก์  เทสรังสี  ดังท่านเขียนประวัติของท่านไว้และพิมพ์แจกไปในงานศพโยมมารดาของท่านแล้ว

     ⇒ กลุ่มต่างๆที่ย้ายออกไปตั้งบ้านใหม่

 กลุ่มที่  ๑  มาจากหนองแก้วหาดเดือย  มี  ๒  พี่น้องเป็นหัวหน้าชื่อ  จารย์อิน  จารย์ลิน  เป็นผู้ตั้งบ้านกลางใหญ่

 กลุ่มที่  ๒  มาจากทุ่งย่างเมืองฝางย้ายออกจากกลางใหญ่ไปตั้งบ้านใหม่ชื่อ  “บ้านนาสีดา”เพราะไปอาศัยอยู่ร่มไม้สีดา (ต้นฝรั่ง) จึงได้ชื่อเช่นนั้น

 กลุ่มที่  ๓  มาจากพ่อแตนแก่นท้าว ได้ย้ายออกไปตั้งบ้านใหม่ชื่อ  “บ้านนางิ้ว”

 กลุ่มที่  ๔  มาจากบ้านเทื่อมสังคม  (อำเภอสังคม จังหวัดหนองคาย)  ได้ย้ายขึ้นไปตั้งที่ดอน  หรือโนนที่สูงกว่าระดับหมู่บ้านกลางใหญ่ ชื่อ “บ้านปลาแดก” (ปัจจุบันเป็นบ้านร้าง) สาเหตุที่บ้านปลาแดกร้างไม่มีบ้านเรือนจนถึงปัจจุบันคือ  ในสมัยก่อนนั้นมีโจรผู้ร้ายเยอะ  เกิดการปล้นจี้กันอยู่เป็นประจำตลอดจนถึงปัญหาลักเล็กขโมยน้อย  จนชาวบ้านหวาดกลัวกันมากในหมู่บ้านปลาแดกมีบุรุษนามหนึ่งชื่อ  “นายง้อนต่อ”  เป็นคนเจ้าชู้และชอบลักเล็กขโมยน้อยชาวบ้านกลัวนายง้อนต่อกันมาก  ในวันหนึ่งชาวบ้านก็ได้ยินข่าวดีเมื่อนายง้อนต่อถูกฆ่าตาย  เพราะความที่เป็นคนเจ้าชู้และชอบลักของขโมยสิ่งต่างๆของชาวบ้านเป็นประจำเหตุการณ์  ดังกล่าวได้สร้างความกลัวยิ่งขึ้นเพราะผีนายง้อนต่อออกมาหลอกหลอนชาวบ้าน  จนพากันแตกตื่นย้ายบ้านจากบ้านปลาแดก  ลงมารวมกันกับบ้านกลางใหญ่จนถึงปัจจุบัน


ประวัติบ้านโนนตาแสง หมู่ที่  ๖ , ๑๑

     ชุมชนที่บ้านโนนตาแสงนั้น  แยกออกมาจากบ้านกลางใหญ่  เป็นชาวเมืองฝางส่วนหนึ่งที่อาศัยอยู่บ้านกลางใหญ่ได้ออกไปตั้งถิ่นฐานขยายไปอีกเพราะเห็นว่าเป็นสถานที่ที่เหมาะสมเป็นที่ตั้งบ้านโนนตาแสงเป็นบ้านที่อยู่ติดกับบ้านกลางใหญ่ที่สุด เพราะกำนันขุนกลางกรมราชและชาวทุ่งย่างได้ไปตั้งถิ่นฐานทั้งนี้เนื่องจากแต่เดิมพื้นที่นี้  เป็นทุ่งนาและไร่ของชาวบ้านกลางใหญ่  ต่อมาชาวบ้านบางคนก็ออกสร้างบ้านเรือนขึ้น เพื่อดูแลที่ดินทำกิน  จนในที่สุดชุมชนก็ขยายใหญ่ขึ้น  จนกลายเป็นหมู่บ้าน  เรียกกันทั่วไปว่า  “บ้านน้อย”  เนื่องจากเป็นหมู่บ้านที่แยกออกจากตัวหมู่บ้านใหญ่

     ที่มาของชื่อบ้าน  “โนนตาแสง”  เนื่องจากที่บริเวณท้ายหมู่บ้าน  มีลำห้วยไหลผ่าน  และมีต้นไม้ชื่อ  “ส้มแสง”  ขึ้นอย่างหนาแน่น ชาวบ้านได้เรียกชื่อลำห้วยนี้ว่า “ห้วยตาแสง”  และต่อมาจึงเรียกชื่อหมู่บ้านว่า “โนนตาแสง” โดยคำว่า “โนน” นั้น หมายถึง  บริเวณที่ตั้งของหมู่บ้านซึ่งเป็นที่ดอนสูงกว่าระดับพื้นที่ใกล้เคียง  อย่างไรก็ตามชื่อโนนตาแสง อาจมาจากเหตุที่ว่าบริเวณนี้เคยเป็นที่ตั้งของบ้านกำนัน (ภาษาลาว เรียกว่า  “ตาแสง”) ก็เป็นได้


ประวัติบ้านนาสีดา หมู่ที่ ๓,๗

     ตามที่ท่านเจ้าคุณพระราชนิโรธรังสีคัมภีรปัญญาวิศิษฏ์ที่เขียนไว้ในประวัติบ้านนาสีดา  ท่านได้เขียนไว้ว่าเมื่อราว  พ.ศ.  ๒๔๑๕  มีคนพวนหมู่หนึ่งราว  ๕- ๖  ครอบครัวได้อพยพลงมาจากเมืองทุ่งย่าง  (ซึ่งอยู่จังหวัดอุตรดิตถ์)เป็นเมืองร้างอยู่ทางทิศใต้ของพระแท่นศิลาอาสน์ไปทางทิศเหนือราว  ๓  กิโลเมตร  (สมัยนี้อาจจะเปลี่ยนแปลงเป็นตำบลแล้วก็ได้)  เพราะอยู่ใกล้อำเภอลับแล  ซึ่งอยู่ทิศตะวันตกของพระแท่นศิลาอาสน์ไม่ไกลกันคราวที่ท่านเจ้าคุณพระราชนิโรธรังสีคัมภีรปัญญาวิศิษฏ์เมื่อลงมาจากเชียงใหม่มาพักที่พระแท่นศิลาอาสน์  ๒ – ๓   คืน  เมื่อออกจากพระแท่นศิลาอาสน์เดินผ่านเมืองร้างแห่งนี้มาขึ้นรถไฟได้เห็นเจดีย์และโบสถ์หักพังระเกะระกะไปหมดมีคนบอกว่านี่แหละเขาเรียกว่าเมืองทุ่งย่าง

     คนพวกเล่านี้ได้อพยพลงมาจากอำเภอนครไท  เข้าบ้านห้วยพอด  เข้าอำเภอด่านซ้าย  จังหวัดเลย  พอมาถึงที่นั้นชาวบ้านก็เกิดโรคฝีดาษขึ้น  ชาวพวนก็พลอยเป็นกับเขาบ้าง  มีผู้คนล้มตายสูญไปหลายคนที่เหลือรอดตายจึงได้อพยพมาถึงบ้านกลางใหญ่  อำเภอบ้านผือ  จังหวัดอุดรธานี  เมื่อมาถึงบ้านกลางใหญ่แล้ว  ก็ขอเข้าพักอาศัยในหมู่บ้านเหล่านั้นซึ่งไม่เคยเป็นญาติมิตรไม่เคยเห็นมาก่อนเลยแต่ชาวบ้านกลางใหญ่ก็ให้ความอนุเคราะห์เอ็นดูทุกอย่างเหมือนกับเป็นญาติสนิทสนมกันมาแต่ก่อน  ซึ่งชาวบ้านกลางใหญ่เขามีวัฒนธรรมดีอย่างนี้เอง  คนมาจากต่างถิ่นจะคุ้นเคยหรือไม่ก็ตาม  เมื่อมาถึงบ้านแล้วเขาจะถือว่าสนิทเป็นกันเอง  ต้อนรับ  รับรองถึงขนาดลากเสื่อมาปูให้นอนเลยทีเดียว  ถ้าหากบุคคลใดพูดเก่งๆหน่อยค่ำมาจะมีชาวบ้านห้อมล้อมเป็นวงกลมเนืองแน่นเต็มบ้านเลยทีเดียวอาหารการกินไม่ต้องอุทรเดือดร้อน  ขึ้นบ้านใดเขาจะเรียกรับประทานไปตลอดเลย  กิจการงานไม่ต้องคำนึงถึง  คนเฒ่าคนแก่บ้านกลางใหญ่นี้มีนิสัยโอบอ้อมอารีดีแต่ไหนแต่ไรมา  ซึ่งคุณความดีดังกล่าวนั้นก็ยังเป็นนิสัยติดตัวลูกหลานมาจนกระทั่งทุกวันนี้  คนชาวบ้านกลางใหญ่  ท่านเจ้าคุณพระราชนิโรธรังสีคัมภีรปัญญาวิศิษฏ์ ไปเที่ยวเชียงใหม่ไปเจอบ้านหนึ่งที่อำเภอจอมทองคนบ้านนี้พูดจาขนบธรรมเนียมเหมือนกับคนบ้านกลางใหญ่  เครื่องนุ่งห่มใช้ผ้าดำหม้อนิลกางเกงขาก๊วย  ผ้าห่มลายปลาชะโด  (คือขาวดำนั่นเอง)  พูดจาเสียงดังเมื่อเจอกันเขาก็พูดบ๊งเบงๆเหมือนกับทะเลาะกัน  แท้ที่จริงเขาชอบใจกันเมื่อเจอะเจอกันใหม่ๆนั่นเอง  ชาวเชียงใหม่เขาเรียกคนพวกนี้ว่า  “หลัวะ”   คนพวกนี้มีไม่มากนัก  เท่าที่เห็นมีเฉพาะบ้านนี้บ้านเดียว  คือ อำเภอจอมทอง  จังหวัดเชียงใหม่แห่งเดียวเท่านั้น   อีกพวกหนึ่งที่จังหวัดเชียงใหม่เขาเรียกว่า  “เขิน”  หรือสำเนียงเชียงใหม่เป็น  “ขืน”  คือพวกเขาทำจักสานขันเขินอยู่ในเมืองเชียงใหม่นั่นเอง  คนพวกนี้เชื้อชาติเดิมลงมาจากเมืองยอง  (เหนือเชียงตุงขึ้นไป)  ไปเจอเขาเข้าเมื่อลงมาจากเมืองยองพูด  ภาษาคล้ายๆกับคนบ้านกลางใหญ่พูดเสียงลากยาวคำสุดท้าย  คำพูดยืดเยื้อและบางคำก็พูดแปลกๆเช่น  คำว่าหมากสีดา(ฝรั่ง)  ชาวบ้านกลางเรียก “หมากโอ่ย”  อย่างจอบก็เรียกว่า “จา”  ส้มโอเขาก็เรียก “หมากพุก”  มาสมัยนี้ภาษาคนเราวิวัฒนาการไปมากแล้ว  ภาษาโบราณดังที่ว่านั้นแทบจะไม่เหลือเลย  คนถิ่นเดียวกันแต่แยกย้ายไปอยู่ห่างไกลกัน  ภายหลังมาเจอกันเข้าพูดแทบจะไม่รู้ภาษากันเลย  เป็นธรรมดาของอนิจจังในโลกนี้มันหากเป็นเช่นนั้นเอง

     ย้อนมาเมื่อชาวพวนอพยพมาจากทุ่งย่าง  จังหวัดอุตรดิตถ์  มาพักอาศัยอยู่ที่บ้านกลางใหญ่ได้รับสงเคราะห์จากชาวบ้านเป็นอย่างดี  ต่างก็มีความเบิกบานชื่นใจ ซึ่งเหตุที่จะได้อพยพมาครั้งนี้ก็เนื่องด้วยนายเชียงทองเป็นต้นเหตุ  นายเชียงทองคนนี้แกเป็นคนไม่ค่อยสู้จะดีนักชัดเซพเนจรหนีจากบ้านมาคนเดียว  โดยไม่มีจุดหมายปลายทางพอมาถึงบ้านกลางใหญ่  ได้พบญาติมิตรที่ไม่ใช่เชื้อสายของตน  แต่เขาทำดีด้วยดังกล่าวแล้ว  จึงหวนระลึกถึงบ้านของตน  ซึ่งมันลุกเป็นไฟไปทุกหย่อมหญ้าแม้แต่เด็กที่ขี่ควายเลี้ยงอยู่  มันนึกอยากได้ก็ไล่ลงจากควายแล้วก็จูงไปซึ่งๆหน้า  แกจึงกลับไปบอกข่าวความเป็นไปของชาวกลางใหญ่แก่ญาติมิตรพวกพ้องที่สนิทว่า  บ้านกลางใหญ่ดีอย่างนั้นดีอย่างนี้  ที่ทำมาหากินก็อุดมสมบูรณ์จะจับจองไร่นาที่ไหนก็ได้ตามปรารถนาพอพวกญาติมิตรเหล่านั้นได้ยินจึงฟ้ากระจ่างหาทางออกชักชวนกันได้  ๕ – ๖   ครัวเรือนแล้ว จึงอพยพมาเลือกทำเลอยู่อาศัยซึ่งลักษณะที่ตั้งเป็นคล้ายเกาะ  โดยยื่นออกไปกลางทุ่งกว้างประมาณ  ๑๐  กิโลเมตร  จึงได้ตั้งบ้านใหม่นี้ชื่อว่า บ้านนาสีดา  เนื่องจากมีต้นฝรั่ง (ต้นสีดา)  ตั้งอยู่กลางทุ่งนาห่างหมู่บ้านไปประมาณ ๓  เส้นเศษ 


ประวัติบ้านผักบุ้ง หมู่ที่ ๒,๔,๘,๑๓

     ชุมชนที่บ้านผักบุ้ง  อพยพมาจากบ้านนาเมือง  แขวงสุวรรณเขต  สปป.ลาว  เมื่อประมาณ  ๒๐๐ – ๓๐๐  ปี  โดยมีนายไกรสร  ชาวดร  ,  พ่อเฒ่าทิดทัด , พ่อเฒ่ามอน  และพ่อตู้ไพร  เป็นผู้นำมา  ทั้งนี้มีจุดประสงค์เพื่อมาจับจองที่ดินทำกิน  ประกอบกับเกิดศึกสงครามขึ้น จึงพากันอพยพมาตั้งถิ่นฐานอยู่บ้านผักบุ้งทางด้านทิศตะวันออกของหมู่บ้านมีหนองน้ำขนาดใหญ่อยู่  เรียกกันว่า  “หนองผักบุ้ง”  เนื่องจากมีต้นผักบุ้งขึ้นอยู่อย่างหนาแน่น  ด้วยเหตุนี้ชาวบ้านจึงเรียกชื่อหมู่บ้านของตนว่า  “บ้านผักบุ้ง”  ตามชื่อของหนองน้ำดังกล่าว

     สังคมหมู่บ้านในตำบลกลางใหญ่มีลักษณะเป็นสังคมชนบท  มีการทำเกษตรกรรมเป็นหลัก  ประชาชนส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธ  มีวัดเป็นศูนย์รวมจิตใจ  ก่อให้เกิดความรักใคร่  สามัคคีกลมเกลียวกัน  นอกจากนี้ประชาชนในตำบลทุกคนก็ยังมีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ซึ่งกันและกันพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน

 

 

 

 

 

 

ประกาศจัดซื้อจัดจ้างจากระบบ E-GP ของกรมบัญชีกลางทั้งหมด(โดยเลือกหัวข้อประกาศได้)

ลิงค์หน่วยงานที่น่าสนใจ

Information center to contact the government Comptroller Generals Department Damrong Dharma Center Department of Employment
National Anti Corruption Commission National Health Security Office Ministry of the Interior Udon Thani Local Office
Department of Local Administration Thai Women Empowermend Funds webmaster webmaster

foot klangyai 1

สำนักงานเทศบาลตำบลกลางใหญ่ (Klang Yai Subdistrict Municipality)
อำเภอบ้านผือ จังหวัดอุดรธานี 41160

Email : saraban_05411707@dla.go.th  โทรศัพท์ : 0-4221-9314 โทรสาร : 0-4221-9312
เบอร์โทรศัพท์กู้ชีพ-กู้ภัย : 0-4221-9313

เว็บไซต์หน่วยงาน : www.klangyai.go.th
   สงวนลิขสิทธิ์ พ.ศ.2521 ตามพระราชบัญญัติสงวนลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537
Copyright © 2018.  www.klangyai.go.th  All Rights Reserved.
ออกแบบและพัฒนาโดย...www.jewelryitem.com รับทำเว็บไซต์หน่วยงานท้องถิ่น (เทศบาล,อบต.)  

Email : jewelryitem7749@gmail.com โทร.080-0071702(เบอร์ผู้ดูแลเว็บไซต์),(คุณโจ)