คำขวัญตำบลกลางใหญ่

"บ้านข้าวเม่า ปลาเผ่าเขาขาด

ธรรมชาติสวนหิน ถิ่นไทพวน"


     ⇒ ประวัติความเป็นมาของตำบลกลางใหญ่

   จากคำบอกเล่า  บ้านกลางใหญ่เป็นชุมชนลาวพวนถูกกวาดต้อนมาจากบ้านหนองแก้ว   หาดเดือย  เมืองเชียงขวางในสมัยเจ้าอนุวงศ์เวียงจันทน์เป็นกบฏต่อกรุงเทพฯ  กองทัพไทยได้กวาดต้อนเอาชาวลาวจากเวียงจันทน์ข้ามมาไทยและจะส่งลงกรุงเทพฯ  ต้นตระกูลของพ่อตู้แสง  สองคน คือ  จารย์อินและจารย์รินผู้น้อง  เป็นผู้มีความรู้ได้บวชเรียนจนได้เป็นจารย์  พ่อแม่พาหนีสงคราม  ไทยลาว  ไทยญวน  จากเชียงขวางมาอยู่ในเวียงจันทน์จารย์อิน  จารย์รินและครัวพวน  ๑  ครัวถูกกวาดต้อนจากเวียงจันทน์จะให้ไปอยู่กวางกรุงเทพ ฯ เดินทางข้ามแม่น้ำโขงมาถึงบ้านกลางใหญ่ซึ่งกลายเป็นบ้านร้างไปแล้วเพราะสงครามไทย ลาว  กบฏเจ้าอนุวงษ์  พวกไทยลาว  ที่อยู่บ้านเลาอยู่ห่างจากบ้านกลางใหญ่ทางทิศเหนือ  ๓  กิโลเมตร  บ้านเทือนอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้และบ้านไซอยู่ทางทิศตะวันออก

  » ตำบลกลางใหญ่  แบ่งหมู่บ้านในเขตการปกครองออกเป็น  ๑๓  หมู่บ้าน  มีชื่อเรียกอยู่  ๔  ชื่อ  คือ  บ้านกลางใหญ่ หมู่ที่ ๑,๕,๙,๑๐,๑๒   บ้านโนนตาแสง  หมู่ที่ ๖,๑๑  บ้านนาสีดา หมู่ที่  ๓,๗   บ้านผักบุ้ง  หมู่ที่ ๒,๔,๘,๑๓



 ประวัติบ้านกลางใหญ่ (หมู่ที่ ๑,๕,๙,๑๐,๑๒)

      ย้อนไปในสมัย  “ยางสามต้นอ้นสามขวย”  ชาวบ้านหนองแก้วหาดเดือย  ได้ถูกกองโจรจีนฮ่อบุกโจมตีจนแตกตื่นจึงพากันอพยพจากหนองแก้วหาดเดือย  แขวงเมืองเชียงขวาง  มาพักอยู่ที่เมืองสีกาทำไร่ทำนาอยู่พักหนึ่ง  แต่ก็ถูกรุกรานจากพวกจีนฮ่ออีกจึงได้อพยพมาพักอยู่ที่บ้านสีไค  แขวงนครเวียงจันทร์

      ต่อมาอีกไม่นานเจ้าอนุวงศ์ผู้ปกครองนครเวียงจันทร์  คิดกบฏต่อประเทศไทยหลังจากที่ครองราชย์ได้เพียง  ๕  ปี  เท่านั้น จึงหวังจะกอบกู้เอกราชคืนเจ้าอนุวงศ์จึงได้ยกทัพข้ามแม่น้ำโขงไปจนถึง  ร้อยเอ็ด  มหาสารคาม  ยึดเมืองต่างๆไปจนถึงเมืองโคราชซึ่งเป็นระยะที่เจ้าเมือง คือพระยาปลัดไม่อยู่ไปราชการเมืองพิมาย  มีแต่คุณหญิงโมผู้เป็นภรรยาอยู่รักษาเมืองแทน 

      รวบลัดมาถึงตอนที่เจ้าอนุวงศ์พ่ายแพ้แต่คุณหญิงโม จึงได้ถอยทัพกลับไปตั้งรับอยู่ที่ค่ายคำหัวคนหนองบัวลำภูก็ถูกตีแตกอีก  ถอยกลับไปรับอยู่ที่ค่ายบกหวานนาฮีก็ถูกตีแตกอีก  ในที่สุดก็ข้ามแม่น้ำโขงไปป้องกันนครวียงจันทร์ฝ่ายทัพไทยได้ใจเพราะเห็นความพ่ายแพ้ของเจ้าอนุวงศ์และทหารหาญก็รวมตัวกันไม่ได้  จึงได้ยกกองทัพไปตีเมืองเวียงจันทร์  จนได้รับชัยชนะจับเจ้าอนุวงศ์ได้และกวาดต้อนประชาชนของลาวส่วนหนึ่งกับมายังประเทศไทยส่วนเจ้าอนุวงศ์ได้เสียชีวิตระหว่างทาง

      ในตอนนี้กรมหลวง  ซึ่งเป็นแม่ทัพไทยเห็นว่าควรตัดกำลังลาว  โดยกวาดต้อนราษฎรลาวทั้งหมดเข้าประเทศไทยโดยข้ามแม่น้ำโขงมาพักอยู่ที่  “พานพร้าว”(ปัจจุบันเป็น ตำบลพานพร้าว อำเภอศรีเชียงใหม่ จังหวัดหนองคาย)  ออกจากพานพร้าวก็ได้ถูกนายกองของไทยกวาดต้อนมาพักอยู่ที่สันภูพาน  (ติดช่องเขาขาด)ราษฎรลาวที่ถูกกวาดต้อนมาส่วนมากเป็น  “ชาวพวน”  อพยพมาด้วยกันหลายร้อยครอบครัว  ถ้าครอบครัวไหนพอมีอันจะกิน(ฐานะดี)  ก็จะมี “ข้อย”(ทาส)ติดตามไปด้วยครอบครัวละ  ๒  คน 

      ตัวอย่างครอบครัวของสองพี่น้องชื่อจารย์อิน  จารย์ลิน  สองพี่น้องนี้มีบริวารมากและมีเงินทองติดตัวมาขณะอพยพ  เช่น  เงินป้อม  เงินฮาง  ทองคำ  สร้อยคอ  แหวน  ต่างหูพวง  ประดับพลอย  ซ่อนมาด้วยในการอพยพมาจากเมืองลาว

      จารย์อิน  จารย์ลิน  สองพี่น้องและพวกที่มีเงินทองได้ปรึกษากันว่าพวกเราไม่อยากอพยพไปอยู่ที่ไกลๆเพราะพวกเขามีทรัพย์สินติดตัวมาด้วย  จึงตกลงที่จะยกทรัพย์สินส่วนหนึ่งให้นายกอง(ติดสินบน) ผู้ควบคุม  ครอบครัวที่อพยพมาจึงตกลงกันเพื่อวางแผนโดยการเก็บรากไม้ที่มีสารทำให้ถ่ายท้องได้(ทำให้ท้องร่วง)  เช่น  รากแฮนเม็ด  รากมะตอด  (สล๊อต)  หนาวเดือนห้า  เก็บมาตามสายทางและที่เก็บติดมือมาแต่บ้านเก่าด้วย  เมื่อได้มาแล้วก็นำมาฝนใส่หินผสมน้ำพอประมาณ(หินฝนยา)โดยเฉพาะผู้หญิงและเด็กๆที่พอเดินได้ให้เริ่มถ่ายท้องและอ่อนเพลียลง

       ด้วยความที่จารย์อิน  จารย์ลิน  สองพี่น้องนี้เป็นผู้คงแก่เรียนเคยบวชเรียนเขียนอ่านมาเป็นเวลานานในขณะบวชก็ได้ศึกษาเกี่ยวกับสมุนไพร  รากไม้ต่างๆจนชำนาญเมื่อลาสิกขา(สึก)ออกมาก็มีความชำนาญในเรื่องต่างๆจนเป็นที่เคารพนับถือของชาวพวน  ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้นำของชนชาวเมืองพวนมาจนกระทั่งแตกศึกอพยพเรื่อยมา จนมาพักอยู่ที่สันภูพาน(ติดช่องเขาขาด)ดังกล่าว  เมื่อครอบครัวที่อพยพด้วยกันกินยาถ่ายท้องได้ไม่นานก็ออกอาการถ่ายท้องจนอ่อนเพลียไปตามๆกัน  สองพี่น้องจึงเข้าไปหานาย กองและขอความกรุณาจากท่านๆจึงกรุณาผ่อนปรนให้ค้างอยู่ที่พักต่อไปได้

       ส่วนครอบครัวที่ยากจนหน่อยก็ถูกเกณฑ์ต้อนไปกับกองอพยพไปตกอยู่ที่สแกรกัง,สนามแจง,บ้านหมี่,บ้านหม้อ,ท่าค้อ,วังกะโดน  ฯลฯ  เมื่อได้รับอนุเคราะห์จากท่านนายกองที่ควบคุมกองทัพอพยพแล้ว  จึงเที่ยวเลือกหาที่ทำเลที่เหมาะสมเพื่อได้ตั้งบ้านต่อไป  เมื่อเลือกที่ทำเลเหมาะสมได้แล้วจึงได้พาครอบครัวที่เหลืออยู่เพียง  ๑๑  ครอบครัวเท่านั้น  มาตั้งรกรากเป็นหลักฐานขึ้นโดยได้ตั้งชื่อบ้านที่ตั้งขึ้นใหม่ว่า  “บ้านกลางใหญ่”

     ⇒ สาเหตุที่ชื่อว่าบ้านกลางใหญ่

  ก่อนที่ครอบครัวทั้ง  ๑๑  ครอบครัวจะมาตั้งนั้นมีหมู่บ้านต่างๆตั้งอยู่รอบบริเวณนั้นอยู่ก่อนแล้ว  คือ

  • บ้านเลาเก่า (ปัจจุบันเป็นที่ตั้งวัดป่านาสีดา)ตั้งอยู่ทางทิศเหนือของบ้านกลางใหญ่
  • บ้านนาแค (ปัจจุบันเป็นบ้านร้าง)ตั้งอยู่ทางทิศใต้ของบ้านกลางใหญ่
  • บ้านไชย์ (ปัจจุบันเป็นบ้านร้าง)ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกของบ้านกลางใหญ่
  • บ้านเทือน (ปัจจุบันเป็นบ้านร้าง)ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของบ้านกลางใหญ่

       ดังนั้น  เมื่อมีบ้านต่างๆล้อมอยู่บ้านที่ตั้งใหม่นี้จึงได้เชื่อว่า  “บ้านกลางใหญ่”  บ้านเลาเก่า, บ้านไชย์ ,  บ้านเทือน  มีซากอิฐที่เป็นโบสถ์อยู่ด้วยเฉพาะบ้านไชย์มีอยู่ด้วยกัน  ๒  โบสถ์สันนิฐานว่าคงจะเป็นบ้านที่ใหญ่พอสมควรในสมัยนั้น  สำหรับบ้านเทือนในปัจจุบันได้มีพระสงฆ์ที่มีศรัทธาได้เข้าไปบูรณปฏิสังขรณ์พระอุโบสถ์และได้ก่อสร้างวัตถุถาวรแล้ว  มีพระจำพรรษาอยู่ตลอดปีนับแต่ปี  พ.ศ.๒๕๓๗  เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน

      กล่าวถึงสาเหตุคนลาวที่อพยพมาตั้งบ้านกลางใหญ่ก็เพราะเจ้าอนุวงศ์เป็นกบฏต่อราชอาณาจักรไทยจนเป็นเหตุให้คุณหญิงโมผู้เป็นภรรยาเจ้าเมืองโคราชทำการศึกกับเจ้าอนุวงศ์  ซึ่งตรงกับสมัยรัชกาลที่  ๓  คือสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว  ประมาณ  พ.ศ.  ๒๓๖๙  เมื่อถึงสมัยของรัชกาลที่  ๕  ทรงอนุญาตให้ครอบครัวลาวที่อพยพมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่  ๓  จะโยกย้ายไปอยู่  ณ  ที่ใดก็ได้ แต่ห้ามไม่ให้ข้ามแม่น้ำโขงกลับไป  ฉะนั้นจึงมีครอบครัวอพยพมาในรุ่นที่  ๒  เพิ่มขึ้นมาอีก ซึ่งรุ่นที่  ๒  นี้มาจากทุ่งย่างเมืองฝางเข้ามาตั้งบ้านเรือนอยู่ทางทิศตะวันตกของหมู่บ้านออกไป  จึงทำให้บ้านกลางใหญ่เพิ่มประชากรขึ้นโดยลำดับ  รุ่นนี้เป็นรุ่นหลังตอนรัชกาลที่  ๕  ทรงอนุญาตให้อพยพได้  เช่น  พ่อกำนันสวน  ใจซื่อ  ลุงพ่อทิดบุญมี  บิดาของท่านเจ้าคุณหลวงปู่เทสก์  เทสรังสี  ดังท่านเขียนประวัติของท่านไว้และพิมพ์แจกไปในงานศพโยมมารดาของท่านแล้ว

     ⇒ กลุ่มต่างๆที่ย้ายออกไปตั้งบ้านใหม่

 กลุ่มที่  ๑  มาจากหนองแก้วหาดเดือย  มี  ๒  พี่น้องเป็นหัวหน้าชื่อ  จารย์อิน  จารย์ลิน  เป็นผู้ตั้งบ้านกลางใหญ่

 กลุ่มที่  ๒  มาจากทุ่งย่างเมืองฝางย้ายออกจากกลางใหญ่ไปตั้งบ้านใหม่ชื่อ  “บ้านนาสีดา”เพราะไปอาศัยอยู่ร่มไม้สีดา (ต้นฝรั่ง) จึงได้ชื่อเช่นนั้น

 กลุ่มที่  ๓  มาจากพ่อแตนแก่นท้าว ได้ย้ายออกไปตั้งบ้านใหม่ชื่อ  “บ้านนางิ้ว”

 กลุ่มที่  ๔  มาจากบ้านเทื่อมสังคม  (อำเภอสังคม จังหวัดหนองคาย)  ได้ย้ายขึ้นไปตั้งที่ดอน  หรือโนนที่สูงกว่าระดับหมู่บ้านกลางใหญ่ ชื่อ “บ้านปลาแดก” (ปัจจุบันเป็นบ้านร้าง) สาเหตุที่บ้านปลาแดกร้างไม่มีบ้านเรือนจนถึงปัจจุบันคือ  ในสมัยก่อนนั้นมีโจรผู้ร้ายเยอะ  เกิดการปล้นจี้กันอยู่เป็นประจำตลอดจนถึงปัญหาลักเล็กขโมยน้อย  จนชาวบ้านหวาดกลัวกันมากในหมู่บ้านปลาแดกมีบุรุษนามหนึ่งชื่อ  “นายง้อนต่อ”  เป็นคนเจ้าชู้และชอบลักเล็กขโมยน้อยชาวบ้านกลัวนายง้อนต่อกันมาก  ในวันหนึ่งชาวบ้านก็ได้ยินข่าวดีเมื่อนายง้อนต่อถูกฆ่าตาย  เพราะความที่เป็นคนเจ้าชู้และชอบลักของขโมยสิ่งต่างๆของชาวบ้านเป็นประจำเหตุการณ์  ดังกล่าวได้สร้างความกลัวยิ่งขึ้นเพราะผีนายง้อนต่อออกมาหลอกหลอนชาวบ้าน  จนพากันแตกตื่นย้ายบ้านจากบ้านปลาแดก  ลงมารวมกันกับบ้านกลางใหญ่จนถึงปัจจุบัน


ประวัติบ้านโนนตาแสง หมู่ที่  ๖ , ๑๑

     ชุมชนที่บ้านโนนตาแสงนั้น  แยกออกมาจากบ้านกลางใหญ่  เป็นชาวเมืองฝางส่วนหนึ่งที่อาศัยอยู่บ้านกลางใหญ่ได้ออกไปตั้งถิ่นฐานขยายไปอีกเพราะเห็นว่าเป็นสถานที่ที่เหมาะสมเป็นที่ตั้งบ้านโนนตาแสงเป็นบ้านที่อยู่ติดกับบ้านกลางใหญ่ที่สุด เพราะกำนันขุนกลางกรมราชและชาวทุ่งย่างได้ไปตั้งถิ่นฐานทั้งนี้เนื่องจากแต่เดิมพื้นที่นี้  เป็นทุ่งนาและไร่ของชาวบ้านกลางใหญ่  ต่อมาชาวบ้านบางคนก็ออกสร้างบ้านเรือนขึ้น เพื่อดูแลที่ดินทำกิน  จนในที่สุดชุมชนก็ขยายใหญ่ขึ้น  จนกลายเป็นหมู่บ้าน  เรียกกันทั่วไปว่า  “บ้านน้อย”  เนื่องจากเป็นหมู่บ้านที่แยกออกจากตัวหมู่บ้านใหญ่

     ที่มาของชื่อบ้าน  “โนนตาแสง”  เนื่องจากที่บริเวณท้ายหมู่บ้าน  มีลำห้วยไหลผ่าน  และมีต้นไม้ชื่อ  “ส้มแสง”  ขึ้นอย่างหนาแน่น ชาวบ้านได้เรียกชื่อลำห้วยนี้ว่า “ห้วยตาแสง”  และต่อมาจึงเรียกชื่อหมู่บ้านว่า “โนนตาแสง” โดยคำว่า “โนน” นั้น หมายถึง  บริเวณที่ตั้งของหมู่บ้านซึ่งเป็นที่ดอนสูงกว่าระดับพื้นที่ใกล้เคียง  อย่างไรก็ตามชื่อโนนตาแสง อาจมาจากเหตุที่ว่าบริเวณนี้เคยเป็นที่ตั้งของบ้านกำนัน (ภาษาลาว เรียกว่า  “ตาแสง”) ก็เป็นได้


ประวัติบ้านนาสีดา หมู่ที่ ๓,๗

     ตามที่ท่านเจ้าคุณพระราชนิโรธรังสีคัมภีรปัญญาวิศิษฏ์ที่เขียนไว้ในประวัติบ้านนาสีดา  ท่านได้เขียนไว้ว่าเมื่อราว  พ.ศ.  ๒๔๑๕  มีคนพวนหมู่หนึ่งราว  ๕- ๖  ครอบครัวได้อพยพลงมาจากเมืองทุ่งย่าง  (ซึ่งอยู่จังหวัดอุตรดิตถ์)เป็นเมืองร้างอยู่ทางทิศใต้ของพระแท่นศิลาอาสน์ไปทางทิศเหนือราว  ๓  กิโลเมตร  (สมัยนี้อาจจะเปลี่ยนแปลงเป็นตำบลแล้วก็ได้)  เพราะอยู่ใกล้อำเภอลับแล  ซึ่งอยู่ทิศตะวันตกของพระแท่นศิลาอาสน์ไม่ไกลกันคราวที่ท่านเจ้าคุณพระราชนิโรธรังสีคัมภีรปัญญาวิศิษฏ์เมื่อลงมาจากเชียงใหม่มาพักที่พระแท่นศิลาอาสน์  ๒ – ๓   คืน  เมื่อออกจากพระแท่นศิลาอาสน์เดินผ่านเมืองร้างแห่งนี้มาขึ้นรถไฟได้เห็นเจดีย์และโบสถ์หักพังระเกะระกะไปหมดมีคนบอกว่านี่แหละเขาเรียกว่าเมืองทุ่งย่าง

     คนพวกเล่านี้ได้อพยพลงมาจากอำเภอนครไท  เข้าบ้านห้วยพอด  เข้าอำเภอด่านซ้าย  จังหวัดเลย  พอมาถึงที่นั้นชาวบ้านก็เกิดโรคฝีดาษขึ้น  ชาวพวนก็พลอยเป็นกับเขาบ้าง  มีผู้คนล้มตายสูญไปหลายคนที่เหลือรอดตายจึงได้อพยพมาถึงบ้านกลางใหญ่  อำเภอบ้านผือ  จังหวัดอุดรธานี  เมื่อมาถึงบ้านกลางใหญ่แล้ว  ก็ขอเข้าพักอาศัยในหมู่บ้านเหล่านั้นซึ่งไม่เคยเป็นญาติมิตรไม่เคยเห็นมาก่อนเลยแต่ชาวบ้านกลางใหญ่ก็ให้ความอนุเคราะห์เอ็นดูทุกอย่างเหมือนกับเป็นญาติสนิทสนมกันมาแต่ก่อน  ซึ่งชาวบ้านกลางใหญ่เขามีวัฒนธรรมดีอย่างนี้เอง  คนมาจากต่างถิ่นจะคุ้นเคยหรือไม่ก็ตาม  เมื่อมาถึงบ้านแล้วเขาจะถือว่าสนิทเป็นกันเอง  ต้อนรับ  รับรองถึงขนาดลากเสื่อมาปูให้นอนเลยทีเดียว  ถ้าหากบุคคลใดพูดเก่งๆหน่อยค่ำมาจะมีชาวบ้านห้อมล้อมเป็นวงกลมเนืองแน่นเต็มบ้านเลยทีเดียวอาหารการกินไม่ต้องอุทรเดือดร้อน  ขึ้นบ้านใดเขาจะเรียกรับประทานไปตลอดเลย  กิจการงานไม่ต้องคำนึงถึง  คนเฒ่าคนแก่บ้านกลางใหญ่นี้มีนิสัยโอบอ้อมอารีดีแต่ไหนแต่ไรมา  ซึ่งคุณความดีดังกล่าวนั้นก็ยังเป็นนิสัยติดตัวลูกหลานมาจนกระทั่งทุกวันนี้  คนชาวบ้านกลางใหญ่  ท่านเจ้าคุณพระราชนิโรธรังสีคัมภีรปัญญาวิศิษฏ์ ไปเที่ยวเชียงใหม่ไปเจอบ้านหนึ่งที่อำเภอจอมทองคนบ้านนี้พูดจาขนบธรรมเนียมเหมือนกับคนบ้านกลางใหญ่  เครื่องนุ่งห่มใช้ผ้าดำหม้อนิลกางเกงขาก๊วย  ผ้าห่มลายปลาชะโด  (คือขาวดำนั่นเอง)  พูดจาเสียงดังเมื่อเจอกันเขาก็พูดบ๊งเบงๆเหมือนกับทะเลาะกัน  แท้ที่จริงเขาชอบใจกันเมื่อเจอะเจอกันใหม่ๆนั่นเอง  ชาวเชียงใหม่เขาเรียกคนพวกนี้ว่า  “หลัวะ”   คนพวกนี้มีไม่มากนัก  เท่าที่เห็นมีเฉพาะบ้านนี้บ้านเดียว  คือ อำเภอจอมทอง  จังหวัดเชียงใหม่แห่งเดียวเท่านั้น   อีกพวกหนึ่งที่จังหวัดเชียงใหม่เขาเรียกว่า  “เขิน”  หรือสำเนียงเชียงใหม่เป็น  “ขืน”  คือพวกเขาทำจักสานขันเขินอยู่ในเมืองเชียงใหม่นั่นเอง  คนพวกนี้เชื้อชาติเดิมลงมาจากเมืองยอง  (เหนือเชียงตุงขึ้นไป)  ไปเจอเขาเข้าเมื่อลงมาจากเมืองยองพูด  ภาษาคล้ายๆกับคนบ้านกลางใหญ่พูดเสียงลากยาวคำสุดท้าย  คำพูดยืดเยื้อและบางคำก็พูดแปลกๆเช่น  คำว่าหมากสีดา(ฝรั่ง)  ชาวบ้านกลางเรียก “หมากโอ่ย”  อย่างจอบก็เรียกว่า “จา”  ส้มโอเขาก็เรียก “หมากพุก”  มาสมัยนี้ภาษาคนเราวิวัฒนาการไปมากแล้ว  ภาษาโบราณดังที่ว่านั้นแทบจะไม่เหลือเลย  คนถิ่นเดียวกันแต่แยกย้ายไปอยู่ห่างไกลกัน  ภายหลังมาเจอกันเข้าพูดแทบจะไม่รู้ภาษากันเลย  เป็นธรรมดาของอนิจจังในโลกนี้มันหากเป็นเช่นนั้นเอง

     ย้อนมาเมื่อชาวพวนอพยพมาจากทุ่งย่าง  จังหวัดอุตรดิตถ์  มาพักอาศัยอยู่ที่บ้านกลางใหญ่ได้รับสงเคราะห์จากชาวบ้านเป็นอย่างดี  ต่างก็มีความเบิกบานชื่นใจ ซึ่งเหตุที่จะได้อพยพมาครั้งนี้ก็เนื่องด้วยนายเชียงทองเป็นต้นเหตุ  นายเชียงทองคนนี้แกเป็นคนไม่ค่อยสู้จะดีนักชัดเซพเนจรหนีจากบ้านมาคนเดียว  โดยไม่มีจุดหมายปลายทางพอมาถึงบ้านกลางใหญ่  ได้พบญาติมิตรที่ไม่ใช่เชื้อสายของตน  แต่เขาทำดีด้วยดังกล่าวแล้ว  จึงหวนระลึกถึงบ้านของตน  ซึ่งมันลุกเป็นไฟไปทุกหย่อมหญ้าแม้แต่เด็กที่ขี่ควายเลี้ยงอยู่  มันนึกอยากได้ก็ไล่ลงจากควายแล้วก็จูงไปซึ่งๆหน้า  แกจึงกลับไปบอกข่าวความเป็นไปของชาวกลางใหญ่แก่ญาติมิตรพวกพ้องที่สนิทว่า  บ้านกลางใหญ่ดีอย่างนั้นดีอย่างนี้  ที่ทำมาหากินก็อุดมสมบูรณ์จะจับจองไร่นาที่ไหนก็ได้ตามปรารถนาพอพวกญาติมิตรเหล่านั้นได้ยินจึงฟ้ากระจ่างหาทางออกชักชวนกันได้  ๕ – ๖   ครัวเรือนแล้ว จึงอพยพมาเลือกทำเลอยู่อาศัยซึ่งลักษณะที่ตั้งเป็นคล้ายเกาะ  โดยยื่นออกไปกลางทุ่งกว้างประมาณ  ๑๐  กิโลเมตร  จึงได้ตั้งบ้านใหม่นี้ชื่อว่า บ้านนาสีดา  เนื่องจากมีต้นฝรั่ง (ต้นสีดา)  ตั้งอยู่กลางทุ่งนาห่างหมู่บ้านไปประมาณ ๓  เส้นเศษ 


ประวัติบ้านผักบุ้ง หมู่ที่ ๒,๔,๘,๑๓

     ชุมชนที่บ้านผักบุ้ง  อพยพมาจากบ้านนาเมือง  แขวงสุวรรณเขต  สปป.ลาว  เมื่อประมาณ  ๒๐๐ – ๓๐๐  ปี  โดยมีนายไกรสร  ชาวดร  ,  พ่อเฒ่าทิดทัด , พ่อเฒ่ามอน  และพ่อตู้ไพร  เป็นผู้นำมา  ทั้งนี้มีจุดประสงค์เพื่อมาจับจองที่ดินทำกิน  ประกอบกับเกิดศึกสงครามขึ้น จึงพากันอพยพมาตั้งถิ่นฐานอยู่บ้านผักบุ้งทางด้านทิศตะวันออกของหมู่บ้านมีหนองน้ำขนาดใหญ่อยู่  เรียกกันว่า  “หนองผักบุ้ง”  เนื่องจากมีต้นผักบุ้งขึ้นอยู่อย่างหนาแน่น  ด้วยเหตุนี้ชาวบ้านจึงเรียกชื่อหมู่บ้านของตนว่า  “บ้านผักบุ้ง”  ตามชื่อของหนองน้ำดังกล่าว

     สังคมหมู่บ้านในตำบลกลางใหญ่มีลักษณะเป็นสังคมชนบท  มีการทำเกษตรกรรมเป็นหลัก  ประชาชนส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธ  มีวัดเป็นศูนย์รวมจิตใจ  ก่อให้เกิดความรักใคร่  สามัคคีกลมเกลียวกัน  นอกจากนี้ประชาชนในตำบลทุกคนก็ยังมีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ซึ่งกันและกันพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน